คนที่กำลังโกรธมักจะตาขวาง พูดหยาบคาย เสียงดัง กำหมัด กัดฟัน หรือตัวสั่น ผู้ชายที่มีหนวดยาวสักหน่อย อาจโกรธจนหนวดกระดิก คนผิวขาวแบบฝรั่งหรือชาวญี่ปุ่น อาจโกรธจนหน้าแดง เรียกว่า เลือดขึ้นหน้า ส่วนคนผิวดำเวลาโกรธเลือดขึ้นหน้าเหมือนกัน แต่สีหน้าจะแดงไม่ชัด หากเห็นคนผิวคล้ำกำลังโกรธ อย่าไปจ้องมองว่าหน้าเขาเป็นสีอะไร เพราะอาจโดนเจ้าของใบหน้ายกหมัดทิ่มตาขี้สงสัยจนบวม หมดโอกาสดูสีหน้าใครๆ ไปอีกหลายวัน
ความโกรธ ความก้าวร้าวหรือโทสะ จัดเป็นหนึ่งในสามของกิเลสตัวร้ายทางพุทธศาสนา เป็นยาพิษขนานเอกที่คอยกัดกร่อนจิตใจให้เป็นทุกข์อย่างไม่รู้จบสิ้น นอกจากจะทำให้ตนเองไม่มีความสุขแล้ว ยังพลอยทำให้คนแวดล้อมอยู่อย่างไม่สงบไปด้วย ความก้าวร้าวเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นคนป่วยทางจิตใจ และพบได้บ่อยพอๆ กับการแสดงความรัก ความห่วงใยต่อกัน ความก้าวร้าวอย่างรุนแรง เช่น ฆาตกรรม การข่มขืน การประท้วงอย่างไม่สงบ การทำทารุณกรรมกับเด็กหรือผัวเมียตีกัน เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เสมอ ความเจริญทางวัตถุทำให้เรามีความเป็นอยู่ดีขึ้น ในขณะเดียวกันความแออัดบวกกับการแข่งขันกันเพื่อปากท้อง ซึ่งติดตามความเจริญมาด้วย ก่อให้เกิดความเครียด อันเป็นสาเหตุประการหนึ่งของความก้าวร้าว นอกจากความเครียด ความหนาแน่นของประชากร และความแออัดของฝูงชนแล้ว ยังมีสาเหตุอีกหลายประการ ซึ่งกระตุ้นให้เกิดความก้าวร้าวขึ้น ได้แก่สถานการณ์บางอย่าง เช่น พบคนที่เกลียด ถูกทำให้เจ็บปวด การแข่งขัน หรือถูกแย่งตำแหน่ง การเสียหน้า ถูกกระทำอย่างไม่ยุติธรรม เห็นผู้อื่นกระทำสิ่งที่ไม่อยู่ในกฎเกณฑ์ ทำเพื่อปกป้อง การแย่งชิงเพศตรงข้าม หรือต้องการแสดงความเหนือว่า คนส่วนหนึ่งโดยเฉพาะผู้ใหญ่จะแสดงความก้าวร้าว กับคนในครอบครัวมากกว่าคนที่ไม่คุ้นเคย ส่วนวัยรุ่นจะก้าวร้าวกับคนแปลกหน้าค่อนข้างมาก อาจเป็นเพราะวัยรุ่นยังมีประสบการณ์น้อย จึงก้าวร้าวกับคนอื่นโดยไม่เลือกหน้าอินทร์หน้าพรหม แต่เมื่อเป็นผู้ใหญ่ได้เรียนรู้ว่าการแสดงความก้าวร้าว เป็นพฤติกรรมที่สังคมไม่ต้องการ จึงพยายามควบคุมเอาไว้ และสามารถทำได้กับคนแปลกหน้า แต่เมื่ออยู่กับคนในครอบครัว กลับไม่สามารถควบคุมเอาไว้ได้ คนที่โตมากับครอบครัวซึ่งมักแสดงความก้าวร้าวต่อกัน มีแนวโน้มเป็นคนก้าวร้าว อธิบายว่า เป็นผลจากกรรมพันธุ์พฤติกรรมเลียนแบบ และการเลี้ยงดูโดยมีการส่งเสริมพฤติกรรมก้าวร้าว อาจจะด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำให้พฤติกรรมนั้นเกิดซ้ำๆ เช่น ผู้ใหญ่คอยส่งเสียงเชียร์เด็กที่ถือไม้ไล่ตีแมว เมื่อเด็กตีถูกผู้ใหญ่ก็ส่งเสียงเฮ! ลั่น ตบไม้ตบมือชอบใจและชมเด็กว่าเก่ง เด็กจะเรียนรู้อย่างผิดๆ ว่า สิ่งที่ตนเองกำลังทำเป็นสิ่งดี เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ และจะทำซ้ำอีกเมื่อมีโอกาส นอกจากนั้นลักษณะครอบครัวที่ไม่ปรองดองกัน ครอบครัวแตกแยกโดยพ่อแม่แยกทางกันหรือหย่าร้าง มีการเสียชีวิตย้ายที่อยู่บ่อยมาก มีการทำทารุณกรรมเด็ก หรือผู้ปกครองติดสุราก็ทำให้เด็กมีแนวโน้มก้าวร้าวได้เมื่อโตขึ้น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นตัวชักนำให้เกิดความก้าวร้าว ได้อย่างร้ายกาจ พบว่าผู้ก่อคดีต่างๆ มากกว่าครึ่งหนึ่ง ได้ดื่มสุราเข้าไปก่อนก่ออาชญากรรมทั้งสิ้น ความจริงแล้วการดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณน้อยๆ ทำให้เกิดความรู้สึกครึ้มหรืออารมณ์ดีได้ น่าเสียดายที่คนจำนวนมากมิได้หยุดดื่มเพียงแค่นั้น แต่กลับดื่มมากจนกระตุ้นให้เกิดความก้าวร้าวขึ้น ทั้งนี้เพราะแอลกอฮอล์จะลดความยับยั้งชั่งใจ ทำให้การควบคุมอารมณ์ไม่ดีพอ การตัดสินใจเรื่องต่างๆ จึงเสียไป สารเสพติดและยาบางชนิดก็ทำให้เกิดความก้าวร้าวได้ โดยกลไกที่คล้ายๆ กัน ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเป็นสาเหตุของความก้าวร้าวได้เช่นกัน ตัวอย่างที่ได้ยินบ่อยๆ ได้แก่ ความโมโหหิวในนิยายพื้นบ้านเรื่อง ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ ความเจ็บป่วยบางอย่าง เช่น โรคลมชัก ปัญญาอ่อน โรคจิตเภท โรคอารมณ์แปรปรวน (AFFECTIVE DISORDERS) และอีกหลายโรคเป็นต้นแหตุของความก้าวร้าวได้ในบางช่วงของอาการ นอกจากนั้นสภาพแวดล้อมบางอย่างสามารถกระตุ้น ให้เกิดความก้าวร้าวขึ้นได้ เช่น ความร้อน การมีอาวุธอยู่ใกล้หรือในมือ โดยเฉพาะปืน ตัวอย่างเหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ" เป็นอุทาหรณ์ได้เป็นอย่างดี สาเหตุสำคัญอีกอย่างหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับความก้าวร้าว และนำไปสู่ชื่อเรื่อง "หญิงกับชาย...ใครร้ายกว่ากัน" ได้แก่เพศที่แตกต่างกัน เด็กผู้ชายมักก้าวร้าวมากกว่าเด็กผู้หญิง เห็นได้ว่าเด็กผู้ชายจะเล่นรุนแรงมีลักษณะในทางทำลายของ วิ่งและกระโดดมากกว่าเด็กผู้หญิง เพศที่ต่างกันอาจเป็นตัวกำหนดการเกิดความก้าวร้าว แต่ในขณะเดียวกันความคาดหวังจากสังคมว่า เพศหญิงจะต้องนุ่มนวลและเรียบร้อยกว่า ก็มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของเด็กไม่น้อย เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ลักษณะก้าวร้าวในเพศชายที่มากกว่าจะปรากฏชัดขึ้น โดยดูจากสถิติอาชญากรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ด้วยน้ำมือของผู้ชาย แต่เป็นที่น่าประหลาดใจเมื่อพบว่า หากเป็นเรื่องเกี่ยวกับภายในครอบครัวแล้ว สถิติของคดีสามีทำร้ายภรรยาหรือภรรยาทำร้ายสามีมีมากพอๆ กันแสดงว่าหากเป็นเรื่องนอกบ้านเพศหญิงไม่อยากยุ่ง แต่ถ้าเป็นเรื่องในบ้านแล้วละก็เห็นจะยอมกันยากสักหน่อย มีการสงสัยว่าฮอร์โมนเพศชายจะเป็นตัวก่อให้เกิดความก้าวร้าว ในประเทศแถบสแกนดิเนเวียเมื่อประมาณ 60-70 ปีก่อน เคยมีการลงโทษโดยการตอนผู้ชายที่ก่อคดีรุนแรง โดยเฉพาะคดีทางเพศ พบว่าวิธีนี้สามารถลดความก้าวร้าวได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นยังเคยมีการทดลองให้ฮอร์โมนเพศหญิงกับผู้ชายที่ก่อคดีก้าวร้าว พบว่าสามารถลดความก้าวร้าวลงได้มากเช่นกัน แสดงว่าฮอร์โมนเพศชายเกี่ยวข้องกับความก้าวร้าวจริงๆ อย่างไรก็ตาม พบว่าบางช่วงเวลาเพศหญิงก็ก้าวร้าวไม่น้อยเหมือนกัน เช่น ในช่วงวันก่อนมีรอบเดือน ผู้หญิงจะมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย หงุดหงิด และมีโอกาสก้าวร้าวเพิ่มขึ้นกว่าช่วงอื่นๆ อาจเป็นเพราะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย มีอาการไม่สบายเนื้อสบายตัวบางอย่างบวกกับความรู้สึกรำคาญ จึงเป็นเหตุให้จิตใจถูกระทบกระทั่งได้ง่าย มีรายงานทางวิชาการเมื่อสิบกว่าปีก่อน แสดงถึงสถิติอาชญากรรมในประเทศญี่ปุ่นซึ่งเกิดขึ้นน้อยมาก โดยผู้รายงานเป็นฝรั่งและชาวญี่ปุ่น ได้ให้เหตุผลว่า เป็นเพราะมีความก้าวร้าวในสังคมต่ำมาก และเสนอเหตุผลว่า
ประการแรก ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความเป็นชนชาติเดียวกัน เป็นส่วนใหญ่ ประเทศอื่นๆ ส่วนมากมีประชากรหลายชนชาติหลายเผ่า ทำให้ภาษา วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีแตกต่างกันไป ก่อให้เกิดความไม่เข้าใจความขัดแย้ง และความก้าวร้าวตามมาได้โดยง่าย
ประการที่สอง ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีภัยธรรมชาติมาก เช่น แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด และพายุจากทะเล ทำให้ประประชาชนต้องร่วมมือกันเพื่อต่อสู้ให้รอดพ้นจากภัยพิบัติต่างๆ เป็นเหตุให้เกิดความรักความสามัคคีต่อกันมาก
ประการที่สาม โดยเฉลี่ยญี่ปุ่นมีการจัดระเบียบ ภายในหน่วยงานหรือบริษัทต่างๆ ดีมากทำให้เกิดความขัดแย้งกันน้อย
และประการสุดท้าย การเลี้ยงดูบุตรของชาวญี่ปุ่น จากยุคโบราณมีลักษณะพิเศษ เด็กจะได้รับความอบอุ่น เนื่องจากอยู่ใกล้ชิดมารดามาก โดยมารดาจะเอาลูกผูกโอบไว้ที่หลัง ในเวลาทำงานหรือไปไหนมาไหนเด็กจึงไม่ถูกทอดทิ้งไว้นาน เมื่อหิว และเด็กจะนอนกับพ่อแม่จนกระทั่งโต มีการลงโทษ และตำหนิน้อยมาก แต่จะใช้วิธีล่อใจด้วยของเล่นหรือขนมหวาน ทำให้เด็กกระดากอายกับพฤติกรรมไม่ดีของตัวเอง เมื่อเด็กโตขึ้นจะควบคุมความก้าวร้าวได้ดีเพราะกลัวทำให้ครอบครัว และพ่อแม่ขายหน้า อย่างไรก็ตามรายงานเรื่องนี้ผ่านมาแล้วสิบกว่าปี เชื่อว่าในปัจจุบันสังคมญี่ปุ่นคงเปลี่ยนไปไม่น้อย โอกาสที่เด็กญี่ปุ่นจะได้เติบโตบนหลังของมารดาอย่างเมื่อก่อนคงมีไม่มาก ถึงแม้ว่ารายงานนี้จะไม่ใหม่นักแต่ก็มีหลายๆ จุดที่น่าสนใจเช่น การที่เด็กได้รับความอบอุ่นมากเป็นปัจจัยหนึ่ง ซึ่งทำให้เด็กโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความก้าวร้าวน้อย การให้รางวัลโดยใช้ของเล่นหรือขนมล่อใจเพื่อให้เกิดพฤติกรรมที่ดี จะได้ผลดีกว่าการลงโทษกับพฤติกรรมที่ไม่ดี ประการสุดท้าย คือ ความเป็นชนชาติเดียวกันภายในประเทศ เป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งช่วยป้องกันการเกิดความขัดแย้งและความก้าวร้าว ทำให้ย้อนกลับมามองประเทศของเราเองซึ่งมีหลายเชื้อชาติ หลายศาสนา หรือแม้แต่ผู้ที่ถือเชื้อชาติไทย ศาสนาพุทธซึ่งเป็นคนส่วนมาก ก็ยังมีความแตกต่างกันในหลายๆ ด้าน ยกตัวอย่างภาษาที่ต่างกันของชาวเหนือ ชาวอีสานและคนภาคกลาง เพราะฉะนั้นการจะเปลี่ยนให้คนทั้งชาติ กลายเป็นชนชาติเดียวกันจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ต้องแก้ด้วยการช่วยกันสร้างความรู้สึกให้เกิดขึ้นว่า เป็นคนไทยด้วยกันใต้ผืนธงเดียวกันซึ่งเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน การลดความก้าวร้าวทางอื่น ต้องดูจากสาเหตุหลายประการ ที่ได้กล่าวถึงมาตั้งแต่ต้น สาเหตุบางประการเป็นเรื่องที่แก้ไขไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น เราแก้ไขสาเหตุทางพันธุกรรมไม่ได้ และเราบังคับให้ฮอร์โมนเพศหญิงกับผู้ชายเพื่อหวังให้ผู้ชาย ลดความก้าวร้าวลงไม่ได้ ด้วยว่าจะมีแต่ผู้ชายตุ้งติ๋งเต็มไปหมด จึงเหลือปัจจัยที่พอจะแก้ไขได้คือ ลดการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลง และช่วยกันเปลี่ยนค่านิยมของการดื่มแอลกอฮอล์เสีย สร้างความรัก ความปองดองภายในครอบครัวให้มีมากขึ้น โดยผู้ปกครองจะต้องมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน และมีความรู้เกี่ยวกับสุขภาพจิตของครอบครัวให้ดีพอ หนทางสุดท้ายในการลดความก้าวร้าวคือ สามารปฏิบัติตามคำสอนของศาสนา เช่น พรหมวิหารสี่ของพุทธศาสนา ที่ว่าด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา หรือคำสอนของชาวคริสต์ว่า จงรักศัตรูของท่านหากถูกตบแก้มขวา จงเอียงแก้มซ้ายให้เขาตบอีก
แล้วเราคงได้เห็นรอยยิ้มกว้างให้แก่กันมากๆ มาทดแทนภาพคนที่กำลังตาขวาง กำหมัด กัดฟัน หรือเม้มปากจนหนวดกระดิก
1 ความคิดเห็น:
ในฐานะคนอ่านอยากขอให้เปลี่ยนสีตัวอักษรนะคะ สีขาวแสบตา กับเว้นบรรทัดบ้างค่ะ เนื้อความน่าสนใจมาก ตอนนี้ขอก๊อบไปอ่านในเวิร์ดเปลี่ยนสีตัวอักษรเองก่อนค่ะ
แสดงความคิดเห็น