แม้ใครๆ จะบอกว่า ชีวิตไม่มีสูตรสำเร็จ แต่เขาคนนี้บอกว่า เราทำชีวิตให้ได้ดีและมีสุขได้ พร้อมทั้งบอกถึงสูตรสำเร็จของชีวิต แม้กระทั่งการเลือกคู่ การเลือกลูก เราก็กำหนดสเปคได้ แต่ไม่ใช่สเปคทางโลกแบบเก่งและดี ต้องมีปัญญาและเข้าใจสัจจะของชีวิต
ถ้าคนที่เข้าใจชีวิต แม้จะเจออุปสรรคมากมายเพียงใด ก็สามารถยิ้มรับและหาทางออกให้ตัวเองได้ แต่จะมีสักกี่คนที่ทำได้เช่นนั้น
บางคนพูดคุยธรรมะได้งดงาม แต่ไม่ได้นำมาปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน บางคนฉลาดเข้าใจเรื่องทางโลก และรู้สึกว่า การเอารัดเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์เป็นเรื่องปกติในสังคม บางคนเข้าวัดเข้าวา
พูดคุยธรรมะประหนึ่งเข้าใจชีวิต แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่
อาจเป็นได้ว่า มนุษย์มองออกไปนอกตัว จึงมองไม่เห็นบางอย่างในตัวเอง
ลองมารู้จักกับ ดอกเตอร์ทางวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง ดร.สนอง วรอุไร แม้จะร่ำเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ จบปริญญาเอก สาขาไวรัสวิทยา จากมหาวิทยาลัยลอนดอน แต่ในที่สุดก็หันมาศึกษาธรรมะอย่างจริงจัง และพบว่าจิตของเรามีศักยภาพมากกว่าที่คิด สามารถพัฒนาได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพียงแต่เราไม่รู้จักการพัฒนาจิต
เขาย้อนความว่า ตอนเรียนอยู่ที่อังกฤษ ต้องเรียนหนักมาก แต่พอฝึกจิตก็ส่งผลให้สามารถจดจำสิ่งต่างๆ ได้เร็วขึ้น และเข้าใจบทเรียนได้ง่ายขึ้น
เมื่อสามสิบปีที่แล้วเขาได้อุปสมบท และมีโอกาสฝึกวิปัสสนากรรมฐานกับพระเทพสิทธิมุนี (โชดก ปธ.9 ) ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์เป็นเวลา 30 วัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เขารู้สึกมีคุณค่าที่สุดในชีวิต ทำให้ชีวิตพบจุดเปลี่ยน
หลังจากนั้นดร.สนองเข้าเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จนเกษียณอายุราชการ และหันมาเป็นครูบาอาจารย์ทางธรรม เดินสายบรรยายธรรมตามที่ต่างๆ ด้วยความเมตตาประกอบกับความเข้าใจชีวิตและธรรมะอย่างลึกซึ้ง สิ่งที่เขาบรรยายจึงมีคุณค่า สามารถจุดประกายความคิดให้หลายๆ คนนำมาใช้ในชีวิต
จนลูกศิษย์รวมกลุ่มกันตั้งเป็นชมรมกัลยาณธรรม ช่วยเผยแพร่ผลงานของเขาออกมาเป็นหนังสือหลายเล่มด้วยกัน อาทิ ทางสายเอก (เล่มนี้แปลเป็นภาษาอังกฤษเพื่อให้ชาวต่างชาติได้มีโอกาสศึกษาประสบการณ์การปฏิบัติธรรม) การใช้ชีวิตที่คุ้มค่า อัญมณีของชีวิต ฯลฯ
ล่าสุดทางสำนักพิมพ์อมรินทร์ ได้เปิดตัวหนังสือ ทำชีวิตให้ได้ดีและมีสุข ของดร.สนอง ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะมีคนฟังเกือบเต็มหอประชุมเล็ก ธรรมศาสตร์
1. “ถ้าทำร่างกายให้แข็งแรง เราต้องรักษาใจให้ได้ จริงๆ แล้วความรู้เหล่านี้มีมานานแล้ว ถ้ามีสุขภาพจิตดี กายก็จะดีไปด้วย “ดร.สนอง เริ่มเล่าให้ญาติโยมและผู้สนใจฟัง จากตัวอย่างของเขาเองปัจจุบันอายุ 68 ปี ยังแข็งแรงและดูอ่อนกว่าวัย เพราะหมั่นฝึกดูใจตัวเองตลอดเวลา
เขาเล่าว่าในยุคที่บุกเบิกมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต้องทำงานหนัก จนเป็นโรคกระเพาะ หลังจากฝึกจิตที่วัดมหาธาตุ ก็ค้นพบว่า โรคพวกนี้มาจากความเครียด หลังจากเรียนรู้เรื่องการฝึกจิตสมาธิผ่านมา 30 ปี ไม่เคยป่วยเป็นโรคอะไรเลย
เขาได้เขียนไว้ในหนังสือว่า ถ้าเราสามารถรักษาสมดุลของธาตุทั้งสี่ในร่างกายได้ โรคภัยไข้เจ็บก็จะไม่เกิด อย่างคนขี้หนาวต้องดื่มน้ำเยอะๆ ในทางวิทยาศาสตร์น้ำคือ ตัวเก็บความร้อน
ดร.สนองย้อนความถึงสมัยเรียนลอนดอนว่า เคยป่วยไม่สบายเพราะทำงานหนัก ตอนนั้นเป็นไข้หวัดใหญ่และอาจตายได้ ก็พยายามขอนัดแพทย์ เพราะอยู่ที่นั่นไม่สามารถซื้อยารับประทานเองได้ ต้องมีใบสั่งแพทย์ แต่วันนั้นแพทย์ไม่มีคิวให้ เราก็ต้องรอวันรุ่งขึ้น
“วันนั้นผมจึงรักษาตัวเองไปก่อน ไปนอนแช่น้ำอุ่น ปรากฏว่าอาการป่วยหาย ไปหาหมอในวันรุ่งขึ้น ไม่มีไข้เลย คนโบราณพูดถึงธาตุทั้งสี่ไว้คือ ดินน้ำลมไฟ ถ้าร่างกายมีสมดุลก็จะแข็งแรง แต่ถ้าเมื่อใดธาตุไหนหย่อนก็มีปัญหา อย่างการกินอาหารไม่สะอาด ก็ต้องกินน้ำเข้าไปเยอะๆ เราต้องรู้จักร่างกายตัวเอง“
เขายกตัวอย่าง และเล่าถึงสมัยหนุ่มๆ ว่า เคยรับประทานไข่วันละฟอง จนมีปัญหาต้องไปพบแพทย์ ปัจจุบันหันมากินไข่ได้อีก ทั้งๆ ที่ตอนนี้อายุ 68 ปี เพราะเราหมั่นสังเกตตัวเอง ถ้ามึนศีรษะเมื่อไหร่ก็จะหยุดทันที เพราะร่างกายเตือนเราล่วงหน้า
“ผมมีเพื่อนคนหนึ่งรับประทานไข่วันละ 10 ฟอง แต่เจอกันวันสุดท้ายที่งานศพ อย่างเวลาผมกินไข่ ถ้ามีอาการมึนศีรษะเมื่อไหร่ก็หยุด อีกอย่างถ้ารู้ว่าไขมันในเลือดสูง ก็อาจจะดื่มน้ำดอกคำฝอย บอระเพ็ด เติมน้ำร้อนแล้วดื่ม เพื่อให้ร่างกายสมดุล ก่อนอื่นต้องตั้งโปรแกรมจิตไว้ว่า ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ปวดศีรษะ แต่ผมคิดว่า
อายุเท่าไหร่ไม่สำคัญขอให้อยู่เพื่อทำประโยชน์ให้สังคม”
เขาย้ำอีกว่า แม้กระทั่งการตายก็มีสัญญาณเตือน อยู่ที่ว่าใครจะระลึกได้ทัน
2. นอกจากหลักการดูแลตัวเองง่ายๆ คือ การฟังเสียงร่างกาย หมั่นสังเกตตัวเองแล้ว เราก็ต้องมีสติและเข้าใจหลักการของธาตุทั้งสี่ และตั้งโปรแกรมจิตว่า จะไม่เจ็บไข้ได้ป่วยก็ย่อมทำได้
แม้หลายคนจะค้านอยู่ในใจว่า สามารถทำได้จริงหรือ ดร.สนอง บอกว่า ต้องรู้จักคิดในแง่บวก คำว่า ไม่มี ไม่ได้ ไม่เกิด อย่าได้มาเกิดกับเขาเลย
และเรื่องน่าคิดอีกอย่าง ก็คือ คนที่มีธรรมะในใจจะทำงานด้วยตัวเองอย่างมีความสุข ไม่ชี้นิ้วให้คนอื่นทำแทน การทำงานด้วยตัวเองก็เพื่อให้ร่างกายได้ออกกำลังกาย คนที่มีธรรมะจะไม่เกี่ยงงาน จะทำงานด้วยใจอย่างมีความสุข อย่างน้อยๆ ต้องหัดเดินออกกำลังกายวันละสามสิบนาที อย่าอยู่เฉยๆ
“ถ้าจิตไม่นิ่ง คลื่นสมองจะเปลี่ยน” ดร.สนอง ย้ำและยกตัวอย่างตัวเขาเอง หลังจากศึกษาธรรมะแล้วมีความจำดีกว่าตอนหนุ่มๆ และเวลาบรรยายธรรม เขาจะไม่อ่านตำรับตำรามากมาย แต่จะทำใจให้สงบนิ่งเพื่อดึงศักยภาพในตัวเองมาใช้ ไม่ว่าจะข้อมูลที่สะสมในชีวิตหรือความเข้าใจชีวิต เพราะความเป็นจริงแล้ว จิตของเราสั่งสมข้อมูลแต่ละภพแต่ละชาติไว้ เพียงแต่เราจะระลึกได้หรือไม่
ปัจจุบันคนเราใช้ศักยภาพของพลังจิตเพียงแค่ 7% ด้วยเหตุผลนี้เอง คนที่ฝึกสติอย่างเชี่ยวชาญก็จะใช้ประโยชน์ทำงานได้เต็มที่ แต่เมื่อใดจิตว้าวุ่น ปัญญาก็จะไม่เกิด
“ผมเคยบอกเพื่อนว่า ถ้ามีปัญหา ขอให้ลองอยู่นิ่งๆ สักพัก ปัญญาก็จะเกิด “
นอกจากนี้การฝึกสมาธิง่ายๆ ยังมีอีกมากมาย แม้แต่การฟังเพลงคลาสสิกก็สามารถสร้างสมาธิได้ ขอให้มีสติกำหนดรู้เท่าทันอิริยาบทปัจจุบัน การร้องเพลงในโบสถ์ก็เป็นอีกวิถีหนึ่งของการเข้าสู่ความสงบ ทิเบตก็มีดนตรีประกอบพิธี หรือดนตรีอินเดีย (พูดถึงดนตรี ก็เลยร้องเพลงให้ฟัง)
การสวดมนต์ ก็เป็นการเข้าสมาธิอย่างหนึ่ง ถ้าเรามีใจจดจ่อ ไม่ได้เอากิเลสเข้าไปปรุงแต่งก็จะได้สมาธิ
“ปกติผมจะบอกคนอื่นๆ ว่า อย่าเชื่อผม ให้ดูตามเหตุผล อย่างบางคนศรัทธามาก แต่ปัญญาไม่เกิด ผมว่าสติต้องพัฒนา”
3. การเข้าถึงศักยภาพของตัวเราเอง อาจเป็นเรื่องยากในความรู้สึกบางคน แต่สำหรับดร.สนองแล้วดูเหมือนไม่ใช่เรื่องยาก เขาย้ำว่า ถ้ากายแข็งแรงต้องเคลื่อนไหวตลอด แต่จิตต้องสงบนิ่ง ยิ่งคนเราขี้เกียจมากเท่าไหร่ ก็จะมีพลังน้อย
หันมาพูดเรื่องการกำหนดสเปคให้ชีวิต ดูท่าจะสนุกกว่า เขาบอกว่า การเลือกคู่มีสองแบบคือ คู่สร้างคู่สมและคู่เวรคู่กรรม อย่างคู่สร้างคู่สมคือ คู่ที่เคยผูกพันกันทำกุศลกรรมร่วมกันมานาน และได้มาเกิดในสถานภาพใกล้เคียงกัน ส่วนคู่เวรคู่กรรมคือ คู่ที่เคยเป็นศัตรูหรืออาฆาตจองเวรกันมาในชาติก่อน แล้วมาเกิดเป็นคู่กัน
แล้วเราจะเลือกคู่แบบไหนดีล่ะ
เขาบอกว่า เป็นเรื่องต้องพิถีพิถัน ไม่ต่างจากเวลาเราซื้อของ ก็ต้องกำหนด สเปค แต่ถ้าคุณวางสเปคไว้ว่าต้องไอคิวสูง (ความฉลาดทางปัญญาความคิดที่เกิดจากการคิดมากฟังมาก) อีคิวสูง(ความฉลาดทางอารมณ์) และเอสคิว (ความเป็นมนุษย์สมบูรณ์ ไม่ตกเป็นทาสของสรรพสิ่ง)
ถ้าคุณกำหนดสเปคว่า ต้องดีทั้งสามอย่าง ดร.สนองว่า ชาตินี้คุณไม่ได้แต่งงาน ถ้าเป็นเช่นนั้น เราต้องปรับตัวก่อนทำจิตทำใจให้มีศีลมีธรรม ถ้าจะเลือกคนมาเป็นคู่ ไม่จำเป็นต้องไอคิวสูงก็ได้ ขอให้เป็นคนดีคือ มีอีคิวสูง
ก่อนอื่นต้องรู้จักพัฒนาจิตใจตัวเอง คือ ส่องกระจกดูใจ เพราะทุกวันนี้เราออกจากบ้าน เราจะดูว่า แต่งตัวเหมาะสมไหม แล้วเราเคยดูใจของตัวเองไหม
“บางคนปฏิบัติธรรมมานาน แต่ธรรมะไม่ได้เข้าไปอยู่ในใจ ก่อนอื่นต้องดูที่ใจ แล้วแก้ที่ตัวเองก่อน คนอื่นเป็นครูของเรา อย่างชาวตะวันตกเวลาสอนให้คนดูต้นไม้ สัตว์หรือธรณีวิทยา ก็จะศึกษาข้างนอก ไม่ได้ศึกษาด้านใน”
เมื่อพูดถึงชีวิตด้านใน มีคนถามถึงเรื่องการสวดมนต์ที่ไม่รู้คำแปลจะมีประโยชน์อย่างไร ดร.สนองบอกว่า คนจำนวนมากสวดมนต์เพื่อให้จบเร็วๆ นั่นก็ได้สมาธิ แต่ไม่มาก แต่ควรสวดด้วยใจ ถ้าให้ดีก็ควรรู้ความหมาย บางบทก็จะได้แผ่เมตตาให้สรรพสัตว์ไปด้วย
“ความเมตตาถ้าเราส่งคลื่นจิตออกไปตรงกัน เขาก็รับรู้ได้ มันอยู่ที่คลื่นส่งของเราด้วย “
ในวงสนทนาก็มีคำถามมากมายที่หลายคนสงสัย แต่ดร.สนองสามารถตอบปริศนาได้บางส่วนเท่านั้น เพราะเวลาค่อนข้างจำกัด ยิ่งถ้าถามว่า ระหว่างการให้ทาน ถือศีล และปฏิบัติสมาธิภาวนา อันไหนจะได้บุญกุศลมากที่สุด
เขามีคำตอบว่า การภาวนาเพื่อพัฒนาจิต น่าจะเป็นแนวทางเพื่อให้มนุษย์ไปสู่จุดมุ่งหมายคือ ปัญญา เพราะถ้าเข้าสมาธิ เพื่อขจัดอารมณ์ปรุงแต่งได้ ย่อมเป็นเรื่องดี และสมาธิไม่จำเป็นต้องนั่งอย่างเดียว ทำได้ทุกอิริยาบท เพื่อให้เกิดปัญญาขจัดกิเลส และช่วยเหลือคนอื่นได้
แม้จะเป็นฆราวาสก็สามารถบรรลุธรรมได้เช่นกัน เมื่อก่อนเขาเองก็ไม่เชื่อ จนเข้าถึงอภิญาณ และหากบวชเป็นพระสงฆ์ คงพูดเรื่องพวกนี้ไม่ได้
นี่เป็นบางส่วนที่ดร.สนองเล่าให้ฟังวันนั้น เขาพยายามเน้นย้ำเรื่องการฝึกสติอย่างเข้าใจ ถ้ามีศรัทธาก็ต้องมีปัญญาด้วย อย่างน้อยๆ ก็ต้องหัดเจริญสติไปเรื่อยๆ อย่าหวังว่าจะได้ญาณหรือเห็นนิมิต
ลองหันมาพัฒนาจิตเพื่อจะได้ไม่เป็นทาสของกิเลส ตัณหา และรู้จักกำหนดชีวิตตัวเองอย่างคนที่มีปัญญา นั่นก็จะเป็นจิ๊กซอว์ช่วยเหลือคนอื่นต่อไป
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น